เมื่อก่อนตอนฝึกโยคะใหม่ ๆ ตอนนั้นคุณสามียังไม่ได้ฝึกโยคะ แต่ตัวเขาเองเคยเห็นเวลาที่พวกเราฝึกกัน ซึ่งก็จะรู้สึกว่ามันดูทุกข์ทรมาน ดูเหนื่อยเอาการ ดูเหมือนจะโหดร้ายไปบ้าง เวลาที่หนิงมาฝึกโยคะเลยมักแซวว่า

ไปทำเพ็ญทุกขกิริยาเหรอ

Healthy Ning Yoga Phuket (โยคะครูหนิงภูเก็ต)

แต่จริง ๆ เขาแซวกับหนิงคนเดียวนะคะ ไม่ได้มองว่าโยคะไม่ดี เพราะทุกวันนี้เจ้าตัวเองก็ฝึกโยคะมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว และเท่าที่สังเกต ก็พอจะมีใจกับโยคะอยู่ในระดับนึงทีเดียวนะ อิอิ

เลยพอคิดถึงคำที่คุณสามีพูด ทำให้เข้าใจเลยว่า บางครั้งการฝึกโยคะอยู่ที่เราฝึกแล้วเราได้อะไร

เราได้เรียนรู้ เรียนรู้กับร่างกาย ลมหายใจ การเคลื่อนไหว การกำหนดจิต ขณะที่เราฝึก

  • ได้เรียนรู้ว่าร่างกายตัวเองว่าไหวแค่ไหน แต่ละวันจริง ๆ แล้ว เราจะฝึกโยคะได้ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันเลย บางวันก็รู้สึกว่าตัวเบา ยืดหยุ่นได้ดี กำลังเยอะ แต่บางวันก็แทบจะฝึกอะไรไม่ได้มาก ตัวตึง แข็ง แรงไม่มี ซึ่งเมื่อรับรู้ร่างกายแบบนี้แล้ว ก็มาดูว่าวันนี้ร่างกายได้เพียงเท่านี้ก็ฝึกแค่พอดี ไม่หักโหมที่จะต้องฝึกให้ได้เหมือนกับวันที่เราร่างกายพร้อม นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องรับรู้ว่าร่างกาย 2 ข้างเราก็ยังไม่เท่ากันเลย แล้วเราจะไปทำให้เท่ากับคนอื่น ๆ ได้อย่างไร สิ่งที่ควรทำคือควรพยายามฝึกให้ 2 ข้างสมดุลกัน และเมื่อวันไหนร่างกายมีอาการบาดเจ็บไม่ว่าจากอะไรก็ควรรู้จักหลีกเลี่ยง ลดหรืองดการใช้อวัยวะส่วนนั้น
  • รับรู้ว่าขณะนี้หายใจเข้า-ออก ได้ลึกแค่ไหน หรือหายใจถี่ ๆ เพราะท่าเริ่มยาก บิดตัวเยอะ ทำให้เราหายใจลำบากขึ้น แล้วเราจะต้องหายใจให้ลึกขึ้นอย่างไร
  • รับรู้ถึงการเคลื่อนไหว ว่าเราเคลื่อนไหวอย่างไร เราเคลื่อนไหวโดยการใช้กล้ามเนื้อที่ถูกส่วนหรือไม่ เช่นเวลาก้าวเท้าหากเราใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยก็จะทำให้ลดแรงกระแทกของฝ่าเท้า ข้อต่อต่าง ๆ ไม่ใช่ใช้แค่ข้อต่อกับกล้ามเนื้อขาลาก ๆ ไป แหะแหะ พอนึกภาพออกป่าวค่ะ แล้วเราเคลื่อนไหวเร็วหรือช้าเกินไป เมื่อเรียนรู้ว่าขณะที่เคลื่อนไหวจะต้องทำภายใน 1 ลมหายใจ เราก็ต้องมาดูประกอบกันทั้งการเคลื่อนไหวและลมหายใจให้สมดุลนั่นเอง
  • รับรู้ถึงการกำหนดจิต เพราะหากเราเป็นผู้ที่มีสติอยู่กับตัว เราจะต้องรับรู้ได้ว่า ณ ขณะนี้ จิตเราอยู่กับการฝึกโยคะนะ ไม่ได้คิดเรื่องอื่น หากคิดเรื่องอื่นไปแล้วก็ดึงมันกลับมาให้อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด แม้กระทั่งจิตไม่ได้ไปในไกล วนเวียนอยู่ในห้องเพราะมัวสังเกตคนอื่นอยู่ก็ต้องดึงให้กลับมาอยู่กับตัวเองให้ได้

สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ตัวเราเองต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง  ไม่มีใครสามารถบอกให้เรากำหนดมันได้ นอกจากได้เพียงแค่แนะนำ เพราะตัวเราคือผู้ปฏิบัติและควบคุม

แต่หากเราฝึกโยคะแล้วเราคิดว่าเราอยากเรียนรู้ แต่จริง ๆ มันคือความอยากรู้ว่าร่างกายตัวเองเราจะทำได้ไห๊ม ไม่ฝึกก็ไม่รู้สินะ ไม่ลองก็ไม่ได้สัมผัส ไม่ฝึกประจำแล้วจะไปทำได้ยังไง คนอื่นทำได้ทำไมเราจะทำไม่ได้ต้องได้เหมือนเขาสักวันนั่นแหละ อยากเรียนรู้การฝึกอาสนะให้มากกว่านี้โดยเฉพาะท่าที่ยาก ๆ โหด ๆ เมื่อไหร่ถึงจะทำได้สักที อิอิ แต่สิ่งที่เราได้อาจจะเป็น “บทเรียน” จากการฝึกโยคะแทน อยู่ที่บทเรียนนั้นจะราคาแพงแค่ไหนเท่านั้นเอง แต่บทเรียนนี้แค่แลกกับร่างกายที่เราอาจจะต้องเสียไป มันอาจจะไม่ได้หนักหนาอะไรมากนะคะ แค่จริง ๆ แล้วเราสามารถฝึกโดยที่ไม่ต้องเสียอะไรเลยเท่านั้นเองค่ะ

ดังนั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองถามตัวเองกันดูนะคะว่า  วันนี้เราฝึกโยคะเพื่อเป็น “บทเรียน หรือ เรียนรู้” ตัวเราเท่านั้นที่เป็นผู้เลือก….